ประวัติ
โรงเรียนชายแดนประชาสรรค์
ประกาศ!!! โรงเรียนชายแดนประชาสรรค์เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ประจำปี 2568
ประวัติ
โรงเรียนชายแดนประชาสรรค์
โรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลกันดารตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบในหุบเขา ทางราชการประกาศเป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยความร่วมมือของชาวบ้านกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 412 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4 เพราะทั้งสองฝ่ายได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ของกุลบุตรกุลธิดา ในการที่จะให้ได้รับการศึกษาให้มีความรู้อ่านออกเขียนได้และความยากลำบากของบุตรหลานในการเดินทางไปเข้าเรียนหรือรับการศึกษาที่อื่น จึงจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประถมศึกษา ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 มีนักเรียนทั้งหมด 35 คน ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นเบื้องต้น โดยการจัดการเรียนการสอน การควบคุม กำกับ ดูแล ของครูตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 3 คน ต่อมาได้มีชาวบ้านบริจาคที่ดินให้เป็นสมบัติของโรงเรียน จำนวน 7 ไร่ 28 ตารางวา
ต่อมาเมื่อ วันที่ 2 สิงหาคม 2522 (ข้อมูลจาก 80 ปี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน) จึงโอนเข้าสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติและได้สร้างอาคารเรียนแบบถาวรพิเศษขึ้น 1 หลัง 3 ห้องเรียน โดยมีนายเสวียง หาญเชิงชัย ดำรงตำแหน่ง รักษาการในตำแหน่ง ครูใหญ่
ปีพุทธศักราช 2524 กองทัพภาคที่ 2 โดยการนำ ของ พลโทพักตร์ มีนกนิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาในโรงเรียนห่างไกลทุรกันดารแห่งนี้ จึงได้จัดหางบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 ขึ้นเป็นอาคารแบบพิเศษ 4 ห้องเรียน พื้นคอนกรีตชั้นเดียว รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน )
ปีพุทธศักราช 2532 คณะครูอาจารย์ กรรมการศึกษา และชาวบ้านคีรีวงกต ได้ร่วมกันสร้างอาคารเรียนชั้นเด็กเล็ก และโรงอาหาร โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
ปีพุทธศักราช 2534 โรงเรียนได้งบประมาณจากทางราชการก่อสร้างเรือนเพาะชำเป็นจำนวนงบประมาณ 24,000 บาท ( สองหมื่นสี่พันบาท ) และในปีเดียวกันคณะครู กรรมการศึกษาและชาวบ้านได้ร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง ในการร่วมกันระดมทรัพยากร จัดหางบประมาณสร้างสนามวอลเลย์บอล พื้นคอนกรีต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,900 บาท ( แปดพันเก้าร้อยบาทถ้วน )
ปีพุทธศักราช 2536 โรงเรียนได้ทำห้องปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 1 ห้อง โดยได้รับการระดมทรัพยากรจาก คณะครู กรรมการศึกษาและชาวบ้าน ในการก่อสร้าง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,000 บาท ( สองหมื่นบาทถ้วน )
ปีพุทธศักราช 2538 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างโรงอาหาร จำนวน 1 หลัง จากการบริจาคของ ตระกูลโนโมมุระ ชาวญี่ปุ่น รวมมูลค่า 75,000 บาท ( เจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน )
ปีพุทธศักราช 2539 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 102 / 26 จำนวน 1 หลัง 3 ห้องเรียน รวมเป็นเงินงบประมาณ 650,000 บาท (หกแสนห้าหมื่นบาทถ้วน )
ปีพุทธศักราช 2542 คณะครู กรรมการศึกษาและชาวบ้านคีรีวงกต ได้ร่วมกันขุดบ่อน้ำ เนื่องจากโรงเรียนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก พระอาจารย์คำสด อรุโณ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านเพิ่ม บริจาค ท่อปูน เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ท่อส่งน้ำ รวมมูลค่า 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน ) และในปีเดียวกันโรงเรียนได้รับเงินสดเพื่อสร้างสนามเด็กเล่นเป็นจำนวนเงิน 17,000 บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันบาท ) จาก MR. SHIGERU NARAMURA ชาวญี่ปุ่น
ปีพุทธศักราช 2543 ได้รับความร่วมมือจาก คณะครู กรรมการศึกษาและชาวบ้านคีรีวงกต บริจาคเงินสร้างรั้วโรงเรียน เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน ) ในปีเดียวกันได้มีหน่วยงานองค์กรเอกชนบริจาคทรัพย์และสิ่งของ เช่น บริษัทซิงเกอร์ สาขาท่าบ่อ มอบพัดลมเพดาน 10 ตัว และเลี้ยงอาหารกลางแก่นักเรียน ธนาคารศรีนคร(มหาชน)สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร แจกของขวัญ ของรางวัล และทุนการศึกษาแก่นักเรียน โรงเรียนอุดรบอสโกวิทยา จ.อุดรธานี มอบอุปกรณ์การศึกษา กีฬา หนังสือ และคอมพิวเตอร์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบเงินในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ธนาคาร LDB ประเทศญี่ปุ่น มอบอุปกรณ์การกีฬามูลค่า 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
ปีพุทธศักราช 2544 นายชัยพร รัตนนาคะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นตัวแทนมอบเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแก่นักเรียนเป็นจำนวนเงิน 31,700 บาท (สามหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) ในปีเดียวกัน นายพงษ์พิศ พานิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดอุดรธานี พร้อมคณะ มอบเสื้อผ้า สิ่งของให้แก่นักเรียน คณะครู นักเรียน โรงเรียนอุดรบอสโก จังหวัดอุดรธานี มาจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้แก่นักเรียน จำนวน 100 คน พร้อมกับมอบอุปกรณ์การศึกษา สร้างห้องน้ำห้องส้วมจำนวน 4 ที่นั่ง คิดรวมมูลค่า 75,000 บาท (เจ็ดหมื่นห้าพันบาท)
ปีพุทธศักราช 2545 สมาคมวิทยุสมัครเล่นอุดรธานี มอบอุปกรณ์การศึกษา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2545 โรงเรียนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสัญจรหัวหน้าการประถมศึกษาทั้งจังหวัดอุดรธานี ของสปจ.อุดรธานี นำโดย นายสะอาด แสงรัตน์ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาอุดรธานี เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2545 สมาคมวิทยุสมัครเล่นอุดรธานี สร้างสนามตะกร้อให้กับโรงเรียน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 15,000 บาท
ปีพุทธศักราช 2546 เมื่อวันอังคาร ที่ 7 เดือนเมษายน พ.ศ. 2546 สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จที่โรงเรียนทรงเยี่ยมพสกนิกร หน่วยแพทย์พ.อ.ส.ว.อุดรธานี ทรงพระราชทานสิ่งของให้แก่ ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป
ปีพุทธศักราช 2547 ได้รับความร่วมมือจาก คณะครู กรรมการศึกษาและชาวบ้านคีรีวงกต สร้างป้ายโรงเรียนรวมมูลค่า 31,500 บาท
ปีพุทธศักราช 2548 ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมทางหลวงหมายเลข 2348 ถมดินปรับสนามพื้นที่สนามฟุตบอล ในปีเดียวกัน พระอาจารย์สมปอง ชยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าเขาคีรีวงกต มอบมอบเสื้อเกาะแก้วเรารักพุทธศาสนา จำนวน 31 ตัว ให้แก่คณะครูและนักเรียนรวมมูลค่า 3,000 บาท
เมื่อ 20 มกราคม 2548 นายสุวรรณ บุญศรีทุม ผู้อำนวยการโรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ มอบเงินสดและวัสดุอุปกรณ์เพื่อพัฒนาโรงเรียน รวมมูลค่า 19,301 บาท (หนึ่งหมื่นเก้าพันสามร้อยเอ็ดบาท)และในปีเดียวกักระทรวงศึกษาธิการทำการติดตั้งโทรศัพท์โรงเรียนจนสามารถสื่อสารได้ชัดเจน
เมื่อเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ “โครงการเสมารวมใจต้านภัยหนาว” เดินทางมามอบผ้าห่มกันหนาว ให้ความรู้และประสบการณ์แก่นักเรียนในปีเดียวกัน ผอ.ศรีจันทร์ บุญประคม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเพิ่ม มอบทุนการศึกษา นักเรียน 5,000 บาท
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548 นายสุรชัย จำปาฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ ได้ประสานงานตำรวจท่องเที่ยว “โครงการปันใจสู่ภัยหนาวแด่น้องผู้ห่างไกล” นำโดยท่านพันตำรวจเอกปัญญา มาเม่น และคณะเดินทางมามอบผ้าห่มกันหนาวและกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียน
เมื่อ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 พระครูวิศาลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดภูนาหลาว บริจาคงบประมาณปูเสื่อห้องจริยธรรมและมอบถังบรรจุน้ำดื่มขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 พระอาจารย์อินถวายสันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อยบริจาคพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 70 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร สำหรับเป็นพระประธานห้องจริยธรรมโรงเรียน
ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นต้นมา โรงเรียนได้ระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยประสานงานรับบริจาคคอมพิวเตอร์ได้จำนวน 5 เครื่อง สามารถเปิดเป็นห้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที15 สิงหาคม2548 จากนั้นได้ระดมทรัพยากรต่อเนื่องและจัดผ้าป่าการศึกษาได้คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกรวมเป็น 11 เครื่อง
ปีพุทธศักราช 2549 นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ออกค่ายอาสาพัฒนาที่โรงเรียน จำนวน 30 คน สร้างเตาเผาขยะ ในปีเดียวกัน โครงการทำบุญ 9 วัด 9 ทำทาน โรงเรียน จากบริษัทซิลวาเนีย (ประเทศไทย)จำกัด มอบทุนอาหารกลางวันให้นักเรียน 70,000 บาท และติดตั้งหลอดไฟนีออนเป็นของซีลวาเนียใหม่ทุกห้องเรียน มูลค่า 25,000 บาท และอุปกรณ์การศึกษา มูลค่าประมาณ 5,000
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 กลุ่มเพื่อน้อง จาก องค์การคลังสินบริษัทสายการบินไทย นำโดยคุณสายันต์ อยู่คงธรรม มอบอุปกรณ์ดนตรีโปงลาง มูลค่า 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ปรับปรุงห้องน้ำห้องส้วมทั้งสองหลัง รวมมูลค่า 19,000 บาท (หนึ่งหมื่นเก้าพันบาท) และมอบอุปกรณ์การกีฬา อุปกรณ์การศึกษา เครื่องฉาย ดีวีดีพร้อมลำโพง
1 ชุด และสิ่งของเสื้อผ้าให้ ครู นักเรียน เยาวชน ชาวบ้านเกือบทุกคน รวมมูลค่า 30,000 บาท และในปีเดียวกัน บริษัทไทยวัฒน์วิศวกรการก่อสร้างจังหวัดอุดรธานี สมทบสนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ดนตรี จำนวน 3,000 บาท
ในปีเดียวกันสำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี นำคณะมาอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ให้แก่ ผู้นำหมู่บ้าน อบต. ชาวบ้าน คณะครู และนักเรียน มอบอุปกรณ์การศึกษา และมอบเงินสดสมทบการพัฒนาการจัดการศึกษาเป็นเงินจำนวน 16,000 บาท
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 ได้รื้ออาคารเรียน แบบ ป.1 ซ พิเศษ เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูบริหารสมาธิคุณ (หลวงตาคำสด อรุโณ ) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านเพิ่ม และพระครูสุทธิญาณโสภณ (พระอาจารย์เล็ก ) เจ้าอาวาสวัดป่านาขาม อ.สังคม จ.หนองคาย ได้ประสานผู้มีจิตศรัทธาจากกรุงเทพมหานคร บริจาคเงินในการสร้างอาคารเรียน จำนวนเงิน 3,000,000 บาท (สามล้านบาท) จำนวน 2 ชั้น 8 ห้องเรียน โดย ห.จ.ก. สมพรพานิชย์
จ.หนองคาย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ได้รับจัดสรรงบประมาณ จาก สพฐ. สร้างสนามลานกีฬาเอนกประสงค์ จำนวน 100,000 บาท
เมื่อ วันที่ 12 ตุลาคม 2550 ชมรมอาสาพัฒนา ชมรมเพื่อน จากโรงเรียนดอนบอสโก แขวงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร จำนวน 68 คนเป็นครูที่ปรึกษาจำนวน 4 ท่านนักศึกษาระดับปวช.ปวส.จำนวน 64 คนได้เดินทางมาออกค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ในระหว่างวันที่ 5 - 12 ตุลาคม 2550 ในการออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ ได้ปฏิบัติกิจกรรมก่อสร้างต่อเติมโรงอาหารปรับปรุงซ่อมแซมห้องสมุดซ่อมแซมประตูหน้าต่างอาคารเรียนซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามเด็กเล่นขุดคลองวางท่อร่วมกิจกรรมกับนักเรียนและเยาวชนมอบอุปกรณ์โรงครัว อุปกรณ์การศึกษาและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คณะครูบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนรวมมูลค่าทั้งสิ้น 84,908.00 บาท( แปดหมื่นสี่พันเก้าร้อยแปดบาทถ้วน )
ปี 2551 ได้รับงบประมาณบริจาค ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร จำนวน 6 ห้องเรียน พร้อมห้องน้ำจำนวน2 หลัง จำนวน 6 ที่นั่ง ในวันที่ 14 มีนาคม 2550 ได้รื้ออาคารเรียน แบบ ป.1 ซ พิเศษ เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูบริหารสมาธิคุณ (หลวงตาคำสด อรุโณ ) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านเพิ่ม และพระครูสุทธิญาณโสภณ (พระอาจารย์เล็ก ) เจ้าอาวาสวัดป่านาขาม อ.สังคม จ.หนองคาย ได้ประสานผู้มีจิตศรัทธาจากครอบครัววิทูรปกรณ์ บริษัทตะวันออกโปลิเมอร์ กรุงเทพมหานคร บริจาคเงินในการสร้างอาคารเรียน จำนวนเงิน 3,800,000 บาท (สามล้านแปดแสนบาท) จำนวน 2 ชั้น 8 ห้องเรียน โดย ห.จ.ก. สมพรพานิชย์ จ.หนองคาย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้รับมอบเมื่อวันที่ 28 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้ทรงพระราชทานชื่ออาคารว่า อาคารเรียนกัลยาณวิชช์
ปี 2552 ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตภาในโรงเรียน จำนวนเงิน 143,26.50 บาท
ปี 2554 ได้รับจัดสรรงบประมาณ งบแปรญัตติ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน สปช. 102/26 , อาคารเรียนพิเศษ , อาคารอเนกประสงค์ , ก่อสร้างส้วม 1 หลัง 4 ที่นั่ง , สร้างรั้วหน้าโรงเรียน , ปูพื้นกระเบื้องโรงอาหาร
ปี 2555 ได้รับจัดสรรงบประมาณ งบแปรญัตติ จากกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการประสานงานของท่านรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2 ท่านรองปัญสังกา งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ห้องสมุดโรงเรียน ประกอบด้วย 1. ชั้นวางหนังสือแบบปาติเคิลบอร์ด จำนวน 2 ตัว ราคา 14,400 บาท 2. ตู้หนังสือแบบปาติเคิลบอร์ด จำนวน 2 ตัว ราคา 42,000 บาท และ 3.ชุดนั่งเอนกประสงค์ จำนวน 5 ชุด ราคา 42,925 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 99,325 บาท
ปี 2556 กลุ่มผู้ใหญ่ใจดี จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอมตะนคร โรงพยาบาลชลบุรี สำนักงานบังคับคดี จ.ชลบุรี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอมตะนคร โรงพยาบาลชลบุรี และสำนักงานบังคับคดี จ.ชลบุรี ได้บริจาคเงินให้โรงเรียนจัดซื้อวัสดุประจำโรงอาหาร จำนวนเงิน 13,700 บาท และบริจาควัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการจัดการศึกษา มูลค่า 50,000 บาทและในปีเดียวกันโรงเรียนก่อสร้างรั้วโรงเรียน ยาว 80 เมตร สูง 2 เมตร ด้วยการทำบุญผ้าป่าการศึกษา เมื่อวันที่ 25 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 เพื่อพัฒนาโรงเรียน ได้เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา 105,000 บาท และได้สร้างรั้วโรงเรียนด้านทิศเหนือเป็นรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความยาว 80 เมตร สูง 2 เมตร จากเงินผ้าป่าการศึกษา 7,,000 บาท จ่าสิบโท อนิวัติ บุพศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ ร่วมบริจาค 12,000 บาท และนายระนอง โยธากุล ร่วมบริจาค 6,000 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 88,000 บาท และได้ใช้เงินผ้าป่าการศึกษาสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก และสร้างประตูเหล็ก ด้านทิศตะวันตก ขนาดความยาว 20 เมตร สูง 2 เมตร รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 40,000 บาท และได้ใช้เงินผ้าป่าการศึกษาสร้างศาลาน้ำดื่มสำหรับเด็กนักเรียน ข้างโรงอาหาร รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10,000 บาท และในปีเดียวกันโรงเรียนได้งบประมาณจากซีซีเอฟ.อุดรธานี จำนวน 4 รายการ อาหารเช้าจำนวน 180 วันๆละ 15 บาท เป็นเงินงบประมาณ 89,100 บาท วัสดุห้องพยาบาล 12,958 บาท สื่อพัฒนาการอนุบาล 3,000 บาท ประตูฟุตบอล 7 คน 5,000 บาท รวมงบประมาณ 110,058 บาท
ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณการศึกษาทางไกลจากวังไกลกังวล จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 77,000 บาท และได้เริ่มจัดการเรียนการสอนทางไกลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ต่อมาโรงเรียนได้รับการจัดงบประมาณแปรญัติจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 231,900 บาท ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน เปลี่ยนหลังคาอาคารเรียน สปช. 102/26 เป็นแผ่นเมทัลซีล เปลี่ยนหน้าต่างอาคารเรียน แบบพิเศษ จำนวน 72 บาน ใส่เหล็กดัดประตูห้องคอมพิวเตอร์ และทาสีอาคารเรียน และในปีเดียว นางพรทิพา บุพศิริ ตำแหน่ง ครู คศ. 2 ได้บริจาคเงินสร้างศาลาพระประธาน จำนวน 12,000 บาท ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธารวมทั้งสิ้น 17,600บาท
ปีการศึกษา 2558 และได้ทำข้อตกลงกับเขตพื้นที่จำนวน 2 เรื่อง คือ เรื่องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน เรื่องนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อ่านออกเขียนได้ทุกคน ได้รับมอบหมาย จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 ให้จัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา(English Bilingual Education:EBE) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โครงการพลิกโฉมอ่านออกเขียนได้ทุกคน โดยใช้กระบวนการพัฒนาการทางสมองก่อนเรียน ตามแนวคิด BBLBrian-Based Learning และนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ทุกคน มีความรู้และทักษะในอาชีพที่ชอบ
ปีการศึกษา 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบประมาณปี 2563 แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้รับจัดสรรโต๊ะเก้าอี้ ระดับประถมศึกษาแบบ มอก. จำนวน 20 ชุด เป็นเงิน 31,600 บาท และได้รับจัดสรรงบปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่น เป็นจำนวนเงิน 496,000 บาท
ปีการศึกษา 2566 ได้รับจัดสรรอาคารเรียน Obec 104ล./61 จำนวนเงิน ๕,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) จำนวน 2 ชั้น ๔ ห้องเรียน
ปัจจุบันโรงเรียนชายแดนประชาสรรค์ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 146 บ้านคีรีวงกต หมู่ที่ 8 ตำบลนาแค อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ระยะทางจากโรงเรียนไปถึงสำนักงานกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนนายูงประมาณ 40 กิโลเมตร ระยะทางจากโรงเรียนถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 4 ประมาณ 86 กิโลเมตร และระยะทางจากจากโรงเรียนถึงจังหวัดอุดรธานี 140 กิโลเมตร หมู่บ้านอยู่ในเขตบริการมี 2 หมู่บ้าน คือ บ้านคีรีวงกตหมูที่ 4 และหมูที่ 8 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ